
ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีสิทธิในการมีส่วนร่วมและปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและบริษัทได้ตามสัดส่วนที่ตนถือหุ้นอยู่ โดยสิทธิของผู้ถือหุ้น แบ่งออกเป็น
1. สิทธิพื้นฐานตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด (พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิพื้นฐานตามสัดส่วนการถือหุ้น การนับคะแนนเสียงในการลงมติของผู้ถือหุ้นก็แตกต่างกันแล้วแต่กรณี
สิทธิตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เช่น
- สิทธิในการได้รับเงินปันผล
- สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ออกเสียงลงคะแนน และเพิกถอนมติที่ประชุม
- สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่
- สิทธิในการแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการ เป็นต้น
2. สิทธิตามกฎหมายหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประกาศที่เกี่ยวข้อง) เมื่อบริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในวงกว้าง นอกจากบริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์และกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งได้เพิ่มการกำกับดูแลกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่เข้มข้นขึ้น และให้สิทธิผู้ถือหุ้น เช่น
- สิทธิในการได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เช่น เพิ่มรายละเอียดในหนังสือนัดประชุม รายละเอียดกรณีมีการชักชวนให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะ
- สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรรมการและผู้บริหารที่เปิดเผยข้อมูลเท็จต่อผู้ถือหุ้น
- สิทธิในการเสนอเพิ่มวาระการประชุม*
- สิทธิในการฟ้องกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย* ผู้ถือหุ้นสามารถเรียกร้องผลประโยชน์คืนให้กับบริษัท (หากบริษัทไม่ฟ้อง)
- สิทธิในการร้องให้ศาลเพิกถอนมติที่มิชอบตามกฎหมาย*
หมายเหตุ: * ผู้ถือหุ้นต้องมีสิทธิออกเสียงรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
